
ป้องกันโรคอ้วนผู้สูงอายุ
ปัญหาโรคอ้วนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายๆ วัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบการเผาผลาญที่ต่ำลง โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจหรือคำนึงถึงรูปร่างของตนเอง มักปล่อยปละละเลย และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแบบที่เคยชิน ตลอดจนไม่รู้จักการดูแลโภชนาการให้ตัวเอง รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน ส่งผลกระทบให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
ผู้สูงอายุที่จัดว่าอยู่ในภาวะโรคอ้วน สามารถดูได้จากรอบเอวที่มากเกินไป ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท ระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม % ถึงขั้นต้องกินยาลดไขมันระดับ HDL (ไขมันตัวดี) มากกว่า 40 และ 50 มิลลิกรัม % ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม % (หรือระดับเสี่ยงเป็นเบาหวาน) โดยเฉพาะคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวานร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การเผาผลาญต่ำลงมาก และกลุ่มผู้สูงอายุที่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งโรคอ้วนจะเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, ไขข้ออักเสบ, ข้อเข่าเสื่อม, ไขมันพอกตับ, เกาต์, กระดูกพรุน, ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ
4 วิธีป้องกันโรคอ้วนในผู้สูงอายุ
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อยลง โดยเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ เนื้อปลา, ไข่ต้ม, เต้าหู้, นมสดพร่องมันเนย, ผักต้ม, มะละกอสุก, ส้ม, กล้วยสุก เป็นต้น
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น เดิน, โยนเปตอง, แกว่งแขน เป็นต้น
- ควรให้ผู้สูงอายุลดน้ำหนัก พยายามอย่าให้น้ำหนักสูงเกินกว่าเกณฑ์ส่วนสูงของผู้สูงอายุ
- ควรลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปกระตุ้นระบบสมอง และระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายแล้ว ยังส่งผลถึงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และอาหารที่มีปริมาณแป้งและน้ำตาลสูงจำพวกอาหารจังก์ฟู้ด หรืออาหารทอดๆ ไขมันสูงทั้งหลาย การดูแลและป้องกันที่ดีที่สุดคือ หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดโภชนาการอาหารให้ถูกต้อง มีปริมาณที่พอเหมาะเท่ากับที่ร่างกายต้องการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดน้ำหนัก ตลอดจนนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หรือกังวลกับสิ่งต่างๆ