
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีเคสหนักถึงขั้นผ่าตัดใหญ่ การดูแลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยก่อนผ่าตัดควรงดรับประทานอาหารและน้ำก่อนผ่าตัด 6 – 8 ชม. เพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างไม่รู้สึกตัว ทำความสะอาดร่างกาย ถอดเครื่องประดับ ของมีค่าต่างๆ ขับถ่ายให้เรียบร้อย ทำใจให้สงบ และพักผ่อนให้เพียงพอ
วิธีการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
- หลังผ่าตัดจะมีพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในขณะอยู่ห้องพักฟื้น โดยยังมีสายหรือท่อต่างๆ ระโยงระยางอยู่ ให้ผู้ป่วยค่อยๆ ขยับตัว พยายามหายใจเข้า-ออกลึกๆ อย่างถูกวิธี
- หลังออกจากห้องพักฟื้นแล้ว ก็จะมีพยาบาลคอยดูแลสอบถามระดับความเจ็บปวดของแผล วัดไข้ และสัญญาณชีพ
- ในบริเวณแผลที่ทำการผ่าตัดนั้นจะมีสายระบายเลือดและสารคัดหลั่งออกจากแผล ห้ามดึงสายออกเองเด็ดขาด หากปวดแผลมากให้แจ้งพยาบาลทำแผล และขอยาระงับอาการปวด
- พยายามฝึกหายใจเข้า-ออกลึกๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะมีนักกายภาพมาสอนการหายใจที่ถูกต้องเพื่อให้ปอดขยายตัวเต็มที่ และจะช่วยให้ผู้ป่วยหายเจ็บจากการผ่าตัดหลังฤทธิ์ยาแก้ปวดหมดลงได้ดี
- เทคนิคง่ายๆ ในกายฝึกหายใจ คือ ให้หายใจเข้าลึกๆ และท้องต้องป่องค้างไว้ 3 วินาที หายใจออกทางปากช้าๆ ท้องแฟบ ทำบ่อยๆ เริ่มต้น 8 – 10 ครั้งต่อชั่วโมง สลับกับการหายใจธรรมดา
- หลังผ่าตัดเป็นปกติที่จะมีเสมหะ การไอที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการแผลฉีกขาดและลดการเจ็บที่แผลได้ โดยการไอให้นอนหงาย (อาจชันเข่าก็ได้) กอดหมอนให้แน่นชิดแผล สำหรับแผลช่องท้อง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกให้กระแอมไปด้วย จนชินต่อการเกร็งตัวของหน้าท้อง จากนั้นหายใจเข้าและหายใจออกพร้อมกับการไอ สลับการกระแอมขากเสมหะ ยกเว้นผู้ที่ผ่าตัดเกี่ยวกับหู ตา คอ และไส้เลื่อน ควรงดและปรึกษาพยาบาลหรือนักกายภาพในโรงพยาบาล เพื่อหาวิธีที่ถูกต้องในแต่ละท่าน
- หลังจากทำการผ่าตัด ผู้ป่วยควรพยายามขยับตัวและลุกขึ้นนั่งบ้าง หรือเปลี่ยนท่านอน พลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง หรือมีการบริหารร่างกายภายใต้การควบคุมแนะนำของพยาบาล การขยับตัวจะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลกดทับ, เสมหะค้างในปอด และเพื่อกระตุ้นลำไส้ให้ทำงาน
- พยายามฝึกตะแคงตัว เพื่อเป็นตัวช่วยในการลุกนั่งของผู้ป่วย ไม่ควรลุกในท่านอนหงายเพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและบาดแผลได้
- จากนั้นหากสามารถรับประทานอาหารได้ ควรรับประทานปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วหมั่นสังเกตความแน่น หรืออึดอัดท้องระดับใด หากท้องไม่อืด ขับถ่ายได้ปกติ จึงค่อยรับประทานมากขึ้น เน้นอาหารอ่อนๆ ประเภทโจ๊ก, ข้าวต้ม, ไข่, เนื้อปลา, ผัก, ผลไม้ เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก โดยเฉพาะในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
นอกจากนี้ หลังผ่าตัดไม่ควรทำแผลเองที่บ้าน ควรไปทำแผลที่คลินิก หรือโรงพยาบาล และห้ามโดนน้ำจนกว่าแผลจะปิดสนิท กรณีใช้พลาสเตอร์ปิดแผลแบบกันน้ำ ขณะอาบไม่ถูหรือฟอกบริเวณแผล และไม่ราดน้ำลงบริเวณแผลโดยตรง ตลอดจนออกกำลังกายเบาๆ อย่าให้มีเหงื่อออกมาก เพราะอาจทำให้คันแผล หรือพลาสเตอร์หลุดได้ รวมทั้งรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบถ้วน และควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดทุกกรณี