
ภาวะซึมเศร้าผู้สูงอายุ
จากรายงานสถิติของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ สาเหตุหลักที่ผู้สูงอายุมักเกิดภาวะซึมเศร้าเกิดจากทางด้านร่างกาย คือ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติไม่สมดุล รวมทั้งโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน หรือสมองเสื่อม ก็เป็นตัวเร่งให้ผู้สูงอายุเป็นโรคนี้ มีปัญหาพิการ ไม่แข็งแรง ต้องทานยาทุกวัน จะยิ่งทำให้ท่านเกิดอาการได้ง่ายเช่นกัน และด้านจิตใจ บางครั้งลูกหลานอยากให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านด้วยความเป็นห่วง แต่ให้ท่านต้องอยู่คนเดียว ห่างจากสังคมที่คุ้นเคย คนที่รัก ที่เคยสนิทล้วนล้มหายตายจาก คนในครอบครัวต้องทำงานไม่มีเวลาใส่ใจ ปล่อยให้ท่านโดดเดี่ยว สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็อาจส่งผลได้เช่นกัน
อาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุสามารถสังเกตได้หลายอย่าง เช่น การรับประทานอาหารได้น้อยลง, นอนน้อยลง หรือนอนเยอะผิดปกติ, อ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, ไม่สนใจเรื่องรอบข้าง, เริ่มมองโรคในแง่ร้าย, มองตนเองไร้ค่า, ไม่เข้าสังคม, หงุดหงิดง่าย หรือไม่ก็ซึมเศร้า หดหู่จนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นต้น
วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า
- ให้ความดูแลเอาใจใส่ พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุที่ป่วย ตลอดจนมีการพูดคุยและรับฟังให้มากขึ้น เพื่อให้ท่านรู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือเหงา
- พยายามเก็บมีดของมีคมทั้งหลายให้ห่างไกลจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจหลงลืม หรือเผลอทำร้ายตัวเองได้
- พยายามอย่าทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่เพียงลำพัง ควรมีหาคนมาดูแลหรืออยู่เป็นเพื่อนตลอด
- ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูอาการของโรค แพทย์จะได้ทำการรักษาและแนะนำให้ปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี
การดูแลภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุโดยแบ่งตามอาการ เช่น ผู้ดูแลควรพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรับประทานให้มากขึ้นอย่างอ่อนโยน พยายามจัดโภชนาการอาหารให้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นแบบย่อยง่าย ให้พลังงานในปริมาณที่เหมาะสม อาการเบื่อหน่ายทุกสิ่ง ลูกหลานควรหมั่นพูดคุย ทำกิจกรรมกับกับท่านให้บ่อยขึ้น อาการนอนไม่หลับ อาจเปิดเพลงช้าๆ ฟังสบายให้ท่านฟัง และจัดเตียงนอนที่สบายเหมาะสม อาการหงุดหงิดง่าย ลูกหลานควรเข้าใจและรับฟังท่านให้มากขึ้น เพราะด้วยความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้ท่านมีความหงุดหงิดบ่อยขึ้น พยายามอย่าโต้เถียง ตวาด หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่ดี และอาการอยากคิดสั้นถือเป็นภาวะที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้ ลูกหลานควรพยายามใกล้ชิด ลองสอบถามความคิดเพื่อตรวจสอบภาวะจิตใจ นำสิ่งของอันตรายให้ห่างตัวท่าน และไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง