Health Articles

สิ่งที่ชื่นชอบในการทำานในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
: สิ่งที่ชอบมากที่สุดของการทำงานคือตัวเราได้ใช้ประสบการณ์ที่เรามีในการบริหารศูนย์นี้อย่างเต็มที่ จากประการณ์ที่ผ่านมาของเรา ทั้งวอร์ด ER ที่ดูเคสฉุกเฉินมานับไม่ถ้วน ทำให้เรามีประสบการณ์ในการประเมินสุขภาพคนไข้และสังเกตุอาการคนไข้ได้รวดเร็ว ทำให้เราดูแลคนไข้ทุกคนได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และทันเวลา

แรงบันดาลใจในการทำโครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลขประชาอุทิศ
: เริ่มจากได้รับนโยบายว่าต้องการทำโครงการเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้จากผู้บริหารของโรงพยาบาลธนบุรีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ และเนื่องจากพื้นฐานของครอบครัวมีผู้สูงอายุคุณตาคุณยายและคุณปู่คุณย่าซึ่งทำให้มีความผูกพันกับคนสูงอายุมีความใส่ใจและดูแลผู้สูงอายุมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มีความคิดและความตั้งใจที่จะออกแบบรูปแบบการดูแลให้ดีเหมือนกับเวลาที่เราได้ให้การดูแลปู่ยาตายายของเราเอง

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีเคสหนักถึงขั้นผ่าตัดใหญ่ การดูแลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยก่อนผ่าตัดควรงดรับประทานอาหารและน้ำก่อนผ่าตัด 6 - 8 ชม. เพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างไม่รู้สึกตัว ทำความสะอาดร่างกาย ถอดเครื่องประดับ ของมีค่าต่างๆ ขับถ่ายให้เรียบร้อย ทำใจให้สงบ และพักผ่อนให้เพียงพอ วิธีการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด หลังผ่าตัดจะมีพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในขณะอยู่ห้องพักฟื้น โดยยังมีสายหรือท่อต่างๆ ระโยงระยางอยู่ ให้ผู้ป่วยค่อยๆ ขยับตัว พยายามหายใจเข้า-ออกลึกๆ อย่างถูกวิธี หลังออกจากห้องพักฟื้นแล้ว ก็จะมีพยาบาลคอยดูแลสอบถามระดับความเจ็บปวดของแผล วัดไข้ และสัญญาณชีพ ในบริเวณแผลที่ทำการผ่าตัดนั้นจะมีสายระบายเลือดและสารคัดหลั่งออกจากแผล ห้ามดึงสายออกเองเด็ดขาด หากปวดแผลมากให้แจ้งพยาบาลทำแผล และขอยาระงับอาการปวด พยายามฝึกหายใจเข้า-ออกลึกๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะมีนักกายภาพมาสอนการหายใจที่ถูกต้องเพื่อให้ปอดขยายตัวเต็มที่ และจะช่วยให้ผู้ป่วยหายเจ็บจากการผ่าตัดหลังฤทธิ์ยาแก้ปวดหมดลงได้ดี เทคนิคง่ายๆ ในกายฝึกหายใจ คือ ให้หายใจเข้าลึกๆ และท้องต้องป่องค้างไว้ 3 วินาที หายใจออกทางปากช้าๆ ท้องแฟบ ทำบ่อยๆ เริ่มต้น 8 - 10 ครั้งต่อชั่วโมง สลับกับการหายใจธรรมดา หลังผ่าตัดเป็นปกติที่จะมีเสมหะ การไอที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการแผลฉีกขาดและลดการเจ็บที่แผลได้ โดยการไอให้นอนหงาย (อาจชันเข่าก็ได้) กอดหมอนให้แน่นชิดแผล สำหรับแผลช่องท้อง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกให้กระแอมไปด้วย จนชินต่อการเกร็งตัวของหน้าท้อง จากนั้นหายใจเข้าและหายใจออกพร้อมกับการไอ สลับการกระแอมขากเสมหะ ยกเว้นผู้ที่ผ่าตัดเกี่ยวกับหู ตา คอ และไส้เลื่อน ควรงดและปรึกษาพยาบาลหรือนักกายภาพในโรงพยาบาล เพื่อหาวิธีที่ถูกต้องในแต่ละท่าน หลังจากทำการผ่าตัด ผู้ป่วยควรพยายามขยับตัวและลุกขึ้นนั่งบ้าง หรือเปลี่ยนท่านอน พลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง หรือมีการบริหารร่างกายภายใต้การควบคุมแนะนำของพยาบาล การขยับตัวจะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลกดทับ, เสมหะค้างในปอด และเพื่อกระตุ้นลำไส้ให้ทำงาน พยายามฝึกตะแคงตัว เพื่อเป็นตัวช่วยในการลุกนั่งของผู้ป่วย ไม่ควรลุกในท่านอนหงายเพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและบาดแผลได้ จากนั้นหากสามารถรับประทานอาหารได้ ควรรับประทานปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วหมั่นสังเกตความแน่น หรืออึดอัดท้องระดับใด หากท้องไม่อืด ขับถ่ายได้ปกติ จึงค่อยรับประทานมากขึ้น เน้นอาหารอ่อนๆ ประเภทโจ๊ก, ข้าวต้ม, ไข่, เนื้อปลา, ผัก, ผลไม้ เป็นต้น ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ “ไม้เท้า” ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้ท่านยังสามารถ

ป้องกันโรคอ้วนผู้สูงอายุ ปัญหาโรคอ้วนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนหลายๆ วัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบการเผาผลาญที่ต่ำลง โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจหรือคำนึงถึงรูปร่างของตนเอง มักปล่อยปละละเลย และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแบบที่เคยชิน ตลอดจนไม่รู้จักการดูแลโภชนาการให้ตัวเอง รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน ส่งผลกระทบให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ผู้สูงอายุที่จัดว่าอยู่ในภาวะโรคอ้วน สามารถดูได้จากรอบเอวที่มากเกินไป ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท ระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม % ถึงขั้นต้องกินยาลดไขมันระดับ HDL (ไขมันตัวดี) มากกว่า 40 และ 50 มิลลิกรัม % ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม % (หรือระดับเสี่ยงเป็นเบาหวาน) โดยเฉพาะคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวานร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การเผาผลาญต่ำลงมาก และกลุ่มผู้สูงอายุที่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งโรคอ้วนจะเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, ไขข้ออักเสบ, ข้อเข่าเสื่อม, ไขมันพอกตับ, เกาต์, กระดูกพรุน, ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ 4 วิธีป้องกันโรคอ้วนในผู้สูงอายุ ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อยลง โดยเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ เนื้อปลา, ไข่ต้ม, เต้าหู้, นมสดพร่องมันเนย, ผักต้ม, มะละกอสุก, ส้ม, กล้วยสุก เป็นต้น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น เดิน, โยนเปตอง, แกว่งแขน เป็นต้น ควรให้ผู้สูงอายุลดน้ำหนัก พยายามอย่าให้น้ำหนักสูงเกินกว่าเกณฑ์ส่วนสูงของผู้สูงอายุ ควรลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปกระตุ้นระบบสมอง และระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายแล้ว ยังส่งผลถึงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และอาหารที่มีปริมาณแป้งและน้ำตาลสูงจำพวกอาหารจังก์ฟู้ด หรืออาหารทอดๆ ไขมันสูงทั้งหลาย การดูแลและป้องกันที่ดีที่สุดคือ หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดโภชนาการอาหารให้ถูกต้อง มีปริมาณที่พอเหมาะเท่ากับที่ร่างกายต้องการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดน้ำหนัก ตลอดจนนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
ผู้สูงอายุไม่รับประทานอาหาร อาการน้ำหนักลดในผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งที่สำคัญนั้นมักเกิดจากผู้สูงอายุไม่รับประทานอาหาร ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจเป็นปัญหาลุกลามเรื้อรังได้ และถ้ามีอาการต่างๆ ในระบบทางเดินอาหารเพิ่มเติมมาด้วย เช่นท้องอืด, ท้องเฟ้อ, ท้องผูก, แน่นท้องคลื่นไส้ จนเครียดนอนไม่หลับ ก็จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุมีอาการหนักขึ้นจนถึงขั้นอยากทำร้ายตัวเองได้ สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากต่อมรับรู้รสมีปัญหาจนรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย เกิดปัญหาทางประสาทสัมผัสการรับรู้ เช่น หู, ตา, จมูก และมีการเคลื่อนไหวน้อยยิ่งกระตุ้นให้เบื่ออาหาร ความสามารถในการย่อยน้อยลง ทำให้เกิดอาหารจุกแน่น เฟ้อ จนไม่อยากอาหาร มีปัญหาจากช่องปาก กินอะไรก็เจ็บหรือทรมาน อาการป่วยประเภทหวัด, ไอ, จาม หรือโรคเนื้องอกในระบบทางเดินอาหาร เกิดจากยาที่ได้รับมาทานเป็นประจำ โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อน เช่น พาร์กินสัน, การทำเคมีบำบัด หรืออัลไซเมอร์ ปัญหาทางจิตใจจนเกิดภาวะตึงเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาหารเป็นพิษ อากาศร้อนหิวน้ำบ่อย หรือรับประทานแต่เมนูเดิมๆ เป็นต้น วิธีการแก้ไขผู้สูงอายุไม่ทานอาหาร ควรให้ผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีความเหนื่อย และต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้น คิดเมนูอาหารใหม่ๆ เพื่อดูว่าอะไรถูกปาก และสร้างความอยากอาหารยิ่งขึ้น ควรแยกมื้ออาหารให้ถี่ขึ้นเพื่อชดเชยกับการรับประทานที่น้อยลง คนในครอบครัวควรใส่ใจและหมั่นรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัวให้บ่อย เพื่อให้ท่านไม่เหงาและมีกำลังใจดูแลตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ ควรหมั่นพาผู้สูงอายุในบ้านไปตรวจสุขภาพกายและสุขภาพภายในช่องปากเป็นประจำ ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตลอดจนนำยาที่รับประทานเป็นประจำให้แพทย์ดูถึงสาเหตุ และที่สำคัญลูกหลานควรหมั่นใส่ใจคอยถามไถ่พูดคุยสารทุกสุกดิบกันเป็นประจำ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและสำคัญต่อคนรอบข้าง
วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในบ้านเราก็จะมีทั้งฝุ่นควันที่มากขึ้นทุกวัน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์เราได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนในวัยสูงอายุ ที่ร่างกายมักอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลง ทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ง่าย วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละครั้ง โรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคฮิตอันดับต้นของผู้สูงอายุ เป็นง่าย แต่ส่งผลต่อร่างกายหนัก เช่น เจ็บคอ, ไอ, หลอดลมอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย, โรคแทรกซ้อนเยอะอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ วัคซีนโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวมชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม ตามด้วยชนิด 23 สายพันธุ์ 1 เข็ม ห่างกัน 1 ปี โรคปอดบวมถือเป็นโรคที่น่ากลัวและเกิดขึ้นง่าย เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อในกระแสเลือด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบถึงขั้นเสียชีวิตได้ วัคซีนงูสวัด 1 เข็มครั้งเดียว โรคงูสวัดเกิดจากไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส ทำให้มีตุ่มใสตามแนวเส้นประสาท อาจถึงขั้นปวดแสบปวดร้อนจากอาการได้ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน แบ่งฉีดเป็น โรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน 1 เข็ม และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ ทุก 10 ปี ในผู้สูงอายุการเกิดโรคบาดทะยักได้เป็นง่าย เพราะภูมิต้านทานของร่างกายมีต่ำกว่าวัยหนุ่มสาว หากติดเชื้อบาดทะยักจากบาดแผลที่โดนสิ่งสกปรกจะแสดงอาการโรคที่หนัก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หายใจลำบากคอตีบรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรหมั่นพาผู้สูงอายุในบ้านไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันภาวะโรคต่างๆ หรือความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งผู้สูงอายุถือเป็นวัยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษจากคนในครอบครัว
ภาวะซึมเศร้าผู้สูงอายุ จากรายงานสถิติของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ สาเหตุหลักที่ผู้สูงอายุมักเกิดภาวะซึมเศร้าเกิดจากทางด้านร่างกาย คือ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติไม่สมดุล รวมทั้งโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน หรือสมองเสื่อม ก็เป็นตัวเร่งให้ผู้สูงอายุเป็นโรคนี้ มีปัญหาพิการ ไม่แข็งแรง ต้องทานยาทุกวัน จะยิ่งทำให้ท่านเกิดอาการได้ง่ายเช่นกัน และด้านจิตใจ บางครั้งลูกหลานอยากให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านด้วยความเป็นห่วง แต่ให้ท่านต้องอยู่คนเดียว ห่างจากสังคมที่คุ้นเคย คนที่รัก ที่เคยสนิทล้วนล้มหายตายจาก คนในครอบครัวต้องทำงานไม่มีเวลาใส่ใจ ปล่อยให้ท่านโดดเดี่ยว สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็อาจส่งผลได้เช่นกัน อาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุสามารถสังเกตได้หลายอย่าง เช่น การรับประทานอาหารได้น้อยลง, นอนน้อยลง หรือนอนเยอะผิดปกติ, อ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย, ไม่สนใจเรื่องรอบข้าง, เริ่มมองโรคในแง่ร้าย, มองตนเองไร้ค่า, ไม่เข้าสังคม, หงุดหงิดง่าย หรือไม่ก็ซึมเศร้า หดหู่จนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นต้น วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ให้ความดูแลเอาใจใส่ พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุที่ป่วย ตลอดจนมีการพูดคุยและรับฟังให้มากขึ้น เพื่อให้ท่านรู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือเหงา พยายามเก็บมีดของมีคมทั้งหลายให้ห่างไกลจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจหลงลืม หรือเผลอทำร้ายตัวเองได้ พยายามอย่าทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่เพียงลำพัง ควรมีหาคนมาดูแลหรืออยู่เป็นเพื่อนตลอด ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูอาการของโรค แพทย์จะได้ทำการรักษาและแนะนำให้ปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี การดูแลภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุโดยแบ่งตามอาการ เช่น ผู้ดูแลควรพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรับประทานให้มากขึ้นอย่างอ่อนโยน พยายามจัดโภชนาการอาหารให้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นแบบย่อยง่าย ให้พลังงานในปริมาณที่เหมาะสม อาการเบื่อหน่ายทุกสิ่ง ลูกหลานควรหมั่นพูดคุย ทำกิจกรรมกับกับท่านให้บ่อยขึ้น อาการนอนไม่หลับ อาจเปิดเพลงช้าๆ ฟังสบายให้ท่านฟัง และจัดเตียงนอนที่สบายเหมาะสม อาการหงุดหงิดง่าย ลูกหลานควรเข้าใจและรับฟังท่านให้มากขึ้น เพราะด้วยความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้ท่านมีความหงุดหงิดบ่อยขึ้น พยายามอย่าโต้เถียง ตวาด หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่ดี และอาการอยากคิดสั้นถือเป็นภาวะที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้ ลูกหลานควรพยายามใกล้ชิด ลองสอบถามความคิดเพื่อตรวจสอบภาวะจิตใจ นำสิ่งของอันตรายให้ห่างตัวท่าน และไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง
รับมือกับปัญหาก้าวร้าว ทุกวันนี้ด้วยความเร่งรีบในการทำงาน การใช้ชีวิต ทำให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านมักพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกบ้าน คือ การทะเลาะกันของผู้สูงอายุในบ้านกับลูกๆ หลานๆ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดปัญหาบานปลายจนน่ากลัว ด้วยปัญหานี้แพทย์ผู้รู้ได้ให้ข้อมูลคำแนะนำไว้ว่า ปัญหาที่ผู้สูงอายุมีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงนั้นส่วนมากเกิดจากภาวะคิดมากภายในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเงิน, ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง, ปัญหาการเสื่อมถอยของสุขภาพ, อาการป่วยซึมเศร้า, ภาวะสมองเสื่อม หรือหลงลืม และอาจรวมถึงการเจอเหตุการณ์ไม่น่าพึงพอใจ การผิดหวังทั้งจากครอบครัว หรือสังคม เป็นต้น วิธีรับมือกับปัญหาก้าวร้าว หาสาเหตุและปัจจัยการกระตุ้นที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว อย่าใส่อารมณ์กลับ ให้รับฟัง แสดงออกว่าเราเป็นที่พึ่งพาให้ได้ พูดคุยและสอบถามด้วยความใจเย็น เมื่อใจเย็นลง ทำการตกลงกันในครอบครัว กอดกัน บอกรักคนในครอบครัว พยายามพูดคุยกับท่านให้มากๆ เรื่องที่เรารู้สึกค้าน ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิจารณ์หรือโต้เถียง แต่พยายามสอดแทรกเหตุผลที่ถูกต้อง โดยไม่บังคับหรือโต้แย้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเป็นคำพูดเชิงวิชาการมากนัก ลองสอบถามเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น การกิน, การขับถ่าย หรือพูดคุยเรื่องตลก เป็นต้น ให้ท่านรู้สึกว่าเราใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้สูงอายุที่มีการป่วยร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรืออัลไซเมอร์ เป็นต้น เราไม่ควรใส่อารมณ์เวลาที่ท่านเกิดภาวะเครียด พยายามชวนท่านทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ไปเที่ยว, รับประทานอาหารนอกบ้าน, ไปสวนสาธารณะออกกำลังกาย ฯลฯ เหล่านี้ก็จะช่วยให้ท่านมีความสุขมากขึ้น และอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดลดลงได้
วิธีการเช็ดผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดเตียง คือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายเสื่อมไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถลุกหรือขยับร่างกายได้ หรืออาจขยับได้เพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องนอนติดอยู่บนเตียงตลอดเวลา โดยมีสาเหตุทั้งจากโรคที่เจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ ตลอดจนการผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งในขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การทำความสะอาดเช็ดตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ดูแลควรรู้วิธีและขั้นตอนเพื่อป้องกันความสกปรกและภาวะแผลติดเชื้อ วิธีการเช็ดตัวผู้ป่วยติดเตียง เริ่มแรกควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เพื่อไม่ต้องเสียเวลาจัดท่าเตรียมเช็ดตัวหลายรอบ และควรมีผ้ายางรองเพื่อป้องการเตียงเปียกชื้น ควรแจ้งผู้ป่วยว่าจะทำการเช็ดตัว เพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าเรากำลังจะทำการเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกายให้ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำการเช็ดตัวผู้ป่วยทุกครั้ง ใช้ผ้าคลุมลำตัวจนถึงช่วงลำคอ และถอดเสื้อผ้าออก ทำความสะอาดช่องปากและฟัน ใช้น้ำอุณหภูมิห้องแล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาด เริ่มเช็ดจากใบหน้าลงมาลำคอ เริ่มเช็ดลำตัว ดึงผ้าลงมาบริเวณเอว เริ่มเช็ดท่อนล่าง ดึงผ้ามาปิดส่วนบนก่อน เริ่มเช็ดด้านหลังโดยการคลุมผ้าท่อนล่าง เมื่อเช็ดเสร็จแล้วก็ทำการใส่เสื้อผ้าให้ผู้ป่วย นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่ให้ผู้ป่วยสวมใส่ ควรเลือกเนื้อผ้าที่สวมใส่สบายเหมาะสมกับสภาพอากาศ และใส่ง่ายถอดออกได้ง่าย ตลอดจนการเช็ดตัวควรเริ่มจากการถอดเสื้อผ้าฝั่งที่มีแรงหรือไม่มีสายน้ำเกลือออกก่อน และหลังเช็ดตัวควรเช็ดให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันความอับชื้น และควรทาโลชั่นเพื่อป้องกันผิวแห้ง โดยทุกอย่างต้องเน้นที่ความสะอาดและปลอดภัยสำหรับตัวผู้ป่วยเป็นหลัก
การป้องกันแผลกดทับ ปัญหาใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่เกิดมากที่สุดและสร้างปัญหามากเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาแผลกดทับ เกิดจากการที่ร่างกายและผิวที่บอบบางถูกกดทับเป็นเวลานานๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้จุดที่ถูกกดทับ เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเพียงพอจนเป็นรอยแดง เกิดเป็นแผล มีความอับชื้น และมีอาการเป็นแผลเรื้อรัง และเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานที่จะมีอาการของแผลที่ลุกลามง่าย หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความอ้วนมากๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี หรือผู้ป่วยที่มีความผอมมากๆ ทำให้ผิวหนังบริเวณปุ่มกระดูกกดทับผิวหนังจนเกิดแผลได้ และอีกสาเหตุที่พบมากก็คือ การลื่นไถลของผิวหนังจากการเคลื่อนย้ายร่างกายบนที่นอนของผู้ป่วย 6 เทคนิค ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ หมั่นพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง ดูแลที่นอนให้สะอาด แห้ง อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรมีผ้ารอง ดูแลผิวหนังผู้ป่วยไม่ให้อับชื้นหรือแห้งเกินไปอยู่เสมอ ออกกำลัง ขยับแขน, ขา และข้อต่อต่างๆ ให้ผู้ป่วยเป็นประจำ ผู้ป่วยจะต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีน, วิตามิน, ธาตุเหล็ก และน้ำ นอกจากนี้ การเครื่องย้ายผู้ป่วยควรมีเครื่องทุ่นแรงและปลอดภัยต่อผิวหนัง และไม่ควรทำตามลำพัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บทั้งต่อคนไข้และผู้ดูแล รวมทั้งการดูแลด้านโภชนาการที่ต้องปรับสัดส่วนของสารอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วยซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการได้
สำหรับทุกครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้าน เรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพราะมักจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดและอาจมีผลเสียตามมาก็คือ อาการผอม หรือน้ำหนักลดของผู้สูงอายุ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะคิดว่าเป็นไปตามวัย หรืออาจเกิดจากโรคประจำตัวที่ท่านเป็น แต่อาการแบบไหนที่เราจะทราบสาเหตุของปัญหาน้ำหนักลดได้ โดยปกติ การน้ำหนักลดเองตามธรรมชาติของผู้สูงอายุนั้น เพศชายจะลดไวกว่าเพศหญิง โดยจะลดที่ปริมาณกล้ามเนื้อจะเหลืออยู่เป็นปริมาณไขมัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่จะมีสาเหตุอื่นที่เป็นตัวเร่งอัตราการผอมลงจากหลายสาเหตุ ทำให้ต่อมรับรสอาหารทำงานได้น้อยลง เกิดอาการไม่อยากอาหาร หรือภาวะการกลืนอาหารลำบาก ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากการอาการผิดปกติในระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อหลอดอาหาร รวมถึงการมีอาหารติดอยู่ที่หน้าอก มีอาการกลืนน้ำและของเหลวยาก เนื่องจากเพราะอาจมีเนื้องอกหรือหลอดอาหารตีบตัน เป็นต้น อาการผอมลงผู้สูงอายุ เคี้ยวอาหารแล้วเจ็บฟัน หรือทานอะไรก็ไม่อร่อย สำลักอาหารบ่อยๆ กลืนลำบาก ไอ จาม ท้องเสียบ่อยมากๆ หรือท้องร่วงง่ายหลังทานอาหาร มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดอุดกั้นเรื้อรัง ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง โรคประจำตัวของผู้สูงอายุเอง ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ผลข้างเคียงของยาที่ได้รับจากแพทย์ ซึ่งเหล่านี้ผู้สูงอายุ และลูกหลาน คนใกล้ชิด ต้องหมั่นสังเกต และสอบถามอาการ พร้อมทั้งการชั่งน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้สูงอายุ หากมีความผิดปกติจะได้สามารถพาไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนปัญหาด้านจิตใจก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุน้ำหนักลดได้ หมั่นพบปะพูดคุย หากิจกรรมทำร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนในครอบครัวสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้หากมีความเข้าใจกัน

By clicking Accept All Cookies, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts. Cookies

Privacy Preferences

Accept All Cookies
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save